วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

อีก 6 ปี น้ำท่วมกรุงเทพ จริงหรือ

 

บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ว่า อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ให้ศึกษาแบบจำลองผลกระทบภาวะน้ำท่วม และน้ำทะเลขึ้นสูงในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชั้นในและปริมณฑล หลังจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารโลก มูลนิธิเวิลด์วิชั่น และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ได้ร่วมกันศึกษา รวบรวมข้อมูลและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ พบว่า กทม.เป็น 1 ใน 9 เมืองในทวีปเอเชียมีความเสี่ยงสูงที่น้ำทะเลจะเอ่อทะลักเข้าท่วมในเมือง โดยทั้ง 9 เมืองที่มีความเสี่ยงประกอบด้วยเซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ประเทศจีน, ธากา ประเทศบังกลาเทศ, กัลกัตตา มุมไบ ประเทศอินเดีย, ย่างกุ้ง ประเทศพม่า, ไฮฟอง โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และ กทม.
นายเสรีกล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้น้ำท่วม กทม.ชั้นในมี 4 ปัจจัย คือ 1.ปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้นถึง 15% ในปัจจุบัน 2.แผ่นดินใน กทม.ทรุดตัวปีละ 4 มิลลิเมตร 3.ระดับน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยสูงขึ้น 1.3 เซนติเมตรต่อปี และ 4.เกิดจากภาพรวมของระบบผังเมืองใน กทม.ที่พบว่าปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่สีเขียว ลดลงไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ "ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีประชากรใน กทม.ประมาณ 680,000 คน ได้รับผลกระทบ น้ำจะเอ่อเข้ามาท่วมอาคารที่ 1.16 ล้านหลัง ในจำนวนนี้จะเป็นบ้านพักอาศัย 9 แสนหลังคาเรือน โดย 1 ใน 3 จะอยู่ในพื้นที่บางขุนเทียน บางบอน บางแค และพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ นอกจากนี้ยังพบว่าอาคารและที่พักอาศัยเขตดอนเมืองราว 89,000 อาคารจะได้รับผลกระทบ รวมความเสียหายทั้งหมดประมาณ 1.5 แสนล้านบาท" ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมฯกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อมูลงานวิจัยทางศูนย์สิรินธรฯได้ดำเนินการเพื่อหาทางป้องกันปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไร นายเสรีกล่าวว่า หลังจากธนาคารโลกได้รับผลวิจัย ก็ได้ส่งเรื่องให้ผู้บริหาร กทม.สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งที่ผลวิจัยได้เสนอวิธีป้องกันและแก้ปัญหาเอาไว้ 3 ทาง คือ 1.เร่งหาพื้นที่แก้มลิงเหนือ กทม. ตั้งแต่สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา เพื่อเป็นที่ระบายน้ำ 2.เร่งขุดขยายคลองระบายน้ำที่มีอยู่เวลานี้โดยเร็ว และ 3.ต้องสร้างคันกั้นน้ำในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อป้องกันน้ำเอ่อทะลักเข้ามาในพื้นที่ กทม.โดยสร้างเป็นคันดินในพื้นที่ริมฝั่งทั้งหมด ระยะทาง 80 กิโลเมตร ซึ่งประเทศเวียดนามได้ดำเนินการไปแล้ว
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ออกโรงเตือนวิกฤตโลกร้อน กทม.จะได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลค่อยๆขึ้นสูง แนะถ้าไม่สร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย ต้องย้ายเมืองหลวงใน 6 ปี เหตุน้ำท่วมกรุงเทพฯ นอกจากบทบาทนักการศึกษาผู้ใจบุญ
ทุกวันนี้ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ในวัย 69 ปี ยังเดินสายให้ความรู้เรื่องสภาวะโลกร้อนตามโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ดร.อาจองอธิบายว่า ขณะนี้สภาพภูมิอากาศกำลังแปรปรวนจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งอาจทำให้คนไทยได้เห็นหิมะตกแบบเดียวกับในประเทศเวียดนาม รวมถึงรอยร้าวของเปลือกโลกที่อาจทำให้แผ่นดินไหวใต้เขื่อนใหญ่ จะทำให้เกิดน้ำท่วมไหลเข้าถึงกรุงเทพฯภายใน 35 ชั่วโมง  ขณะนี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกคือ ดิน ฟ้า อากาศที่เปลี่ยนแปลง เราจะเห็นว่าประเทศไทยเราปีนี้อากาศเย็นลง ซึ่งก็เกิดขึ้นเพราะขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ร้อนขึ้นมาก และดูดเอาความร้อน น้ำแข็งละลาย ดังนั้นโดยเฉลี่ยอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจริงๆ แต่ประเทศไทยโดยเฉลี่ยอุณหภูมิลดลง เพราะว่าไปร้อนที่อื่น แต่อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว ประเทศไทยของเราเองก็หนีไม่พ้น ในที่สุดก็จะร้อนขึ้น”
ดร.อาจอง กล่าวว่า เรื่องโลกร้อนที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง มี 2 อย่างใหญ่ คือผล กระทบจากระดับน้ำทะเลที่จะค่อยๆ สูงขึ้น และการที่เปลือกโลกเริ่มเคลื่อนไหวจนเกิดรอยร้าว ซึ่งจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยมากขึ้น นี่คือ 2 อย่างที่เราต้องเตรียมตัวให้ดี ”เรื่องของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ถ้าเราไม่สร้างเขื่อนกั้นตรงอ่าวไทย ก็ต้องคิดย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯไปที่อื่นภายใน 6 ปี เพราะอีก 15 ปีข้างหน้า น้ำจะเริ่มท่วมกรุงเทพฯ ฉะนั้นเราก็จะอยู่ไม่ได้ แต่การย้ายเราต้องวางแผนล่วงหน้าสัก 10 ปี ต้องวางแผนให้ดี เราจะสร้างเมืองใหม่ขึ้นมาอย่างไร ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม และทำให้ดี”  
ส่วนเรื่องเปลือกโลกเคลื่อนตัวจะทำให้มีรอยเลื่อนเกิดขึ้นหลายจุด ตั้งแต่ภาคเหนือ ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลงมาถึงลำปาง อุตรดิตถ์ ส่วนทางด้านภาคตะวันตก ก็จะมี จ.ตราด และกาญจนบุรี ลงไปทางใต้ ก็ตั้งแต่ จ.ประจวบฯ ลงไปเรื่อยจนถึง จ.ภูเก็ต กระบี่ ก็จะเริ่มเกิดรอยร้าว กรมทรัพยากรธรณีได้ทำแผนที่ว่ารอยร้าวอยู่ตรงไหน ตรงไหนจะเกิดมากเกิดน้อย แต่รอยร้าวจะไม่สามารถทำอะไรเราได้มากมาย ถ้าหากเรารู้ว่าแผ่นดินไหวอาจจะเกิดขึ้น และมีการเตรียมตัวที่ดี เช่น ภาคเหนือ เราสามารถอยู่ได้ แต่ต้องสร้างบ้านให้แข็งแรงเท่านั้นเอง
“ส่วนภาคกลางที่น้ำจะท่วม ผมคิดว่าน่าจะปกป้องเอาไว้แทนที่จะปล่อยให้ท่วม เพราะนี่คืออู่ข้าวของเราที่เราปลูกข้าวมากที่สุดในโลก ฉะนั้นยังไงก็ต้องสร้างเขื่อนกั้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช บอกว่า ต้องสร้างเขื่อนกลางทะเล ผมคิดว่าอาจจะลำบากและค่าใช้จ่ายสูง แต่ผมคิดว่าเราน่าจะสร้างรอบทะเลดีกว่า อาจจะโค้งหน่อยตามสภาพภูมิประเทศ แต่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ และสามารถป้องกันไม่ให้ภาคกลางไม่ให้น้ำท่วม ไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้ามาได้”
  “และประการสำคัญ หากเราไม่ป้องกันคือ สถานที่สำคัญในบ้านเมืองเราอาจจะหายไป เช่น วัดพระแก้ว หรือ จ.พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีวัดจำนวนมาก ดังนั้นการสร้างเขื่อนจะสามารถป้องกันไม่ให้เราสูญเสียสิ่งสำคัญเหล่านี้ได้ แต่เราก็ต้องลงทุน ไม่ใช่รอจนกระทั่งสายเกินไป ซึ่งถ้าจะสร้างเขื่อนก็ต้องสร้างให้เสร็จภายใน 6 ปีนับจากนี้ ถ้าปล่อยให้น้ำเค็มเข้ามาถึงคลองประปาก็จะไม่มีน้ำจืดเหลือแล้ว”

 “อดีตนักวิทยาศาสตร์องค์การนาซ่าเตือนว่า สิ่งที่ดีที่สุดขณะนี้ก็คือต้องสร้างเขื่อนกั้นไว้ก่อน รัฐบาลต้องคิดและวางแผนตั้งแต่วันนี้ ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ และจะกลายเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราพูดถึงภัยอันตรายส่วนรวมแล้ว มนุษย์ก็จะได้เลิกทะเลาะกันเสียที เพราะเรามีภัยธรรมชาติที่เป็นศัตรูร่วมกัน ถ้าไม่ป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง กรุงเทพฯและภาคกลางหลายจังหวัดจมน้ำแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น