ในช่วงปลายเดือน มกราคม ที่ผ่านมา กสท โทรคมนาคม ได้ทำสัญญาในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G หลายฉบับกับบริษัทในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น หากดูผิวเผิน อาจเกิดความรู้สึกว่า สัญญาเหล่านี้จะทำให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ถ้าศึกษาให้ดีจะพบว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยกำลังจะถลำเข้าไปอยู่ในวังวนแห่งความด้อยพัฒนาและปัญหาหมักหมมไปอีกนาน แม้สัญญาที่เกี่ยวข้องจะมีหลายฉบับ สาระสำคัญส่วนใหญ่ก็อยู่ในสัญญาเพียง 2 ฉบับหลักที่เรียกว่า “สัญญาเช่า” และ “สัญญาขายส่ง” ในส่วนของสัญญาเช่านั้น กสท จะ “เช่า” อุปกรณ์โทรคมนาคมจาก บีเอฟเคที ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ทรู มาติดตั้งบนเสาโทรคมนาคมที่ กสท จะสร้างขึ้น ในขณะที่สัญญา “ขายส่ง” นั้น กสท ก็จะนำเอาโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดที่มีคือ เสา และระบบสื่อสัญญาณที่สร้างขึ้น และอุปกรณ์ที่เช่ามาจากทรู นำมา “ขายส่ง” ให้ เรียลมูฟ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ทรู อีกแห่งหนึ่ง โดยเรียลมูฟ จะมีสิทธิในการใช้โครงข่ายดังกล่าว 80% ของความจุ เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือของตน (ดูภาพประกอบ) ในความเห็นของผู้เขียน สัญญาต่างๆ เหล่านี้มีปัญหาใหญ่ 2 ประการคือ ความชอบด้วยกฎหมายในการทำสัญญา และเนื้อหาของสัญญาที่ กสท. น่าจะเสียเปรียบ ทรู เป็นอย่างมาก ในส่วนของข้อกฎหมายนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า สัญญาดังกล่าวเมื่อดูในภาพรวมแล้ว น่าจะเข้าข่ายเป็นสัญญาตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (กฎหมายร่วมทุน) เนื่องจากมีสาระสำคัญแทบไม่แตกต่างจากสัญญาสัมปทานโดยทั่วไป หากเป็นเช่นนั้นจริง การทำสัญญานี้ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดเช่น โครงการต้องผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ การคัดเลือกเอกชนคู่สัญญาต้องมีการแข่งขันเปิดกว้าง ไม่ใช่การคัดเลือกทรู มาเพียงรายเดียว เราอาจมองได้ว่า การที่สัญญาระหว่าง กสท และทรู ถูกแบ่งซอยออกเป็นสัญญาย่อยๆ หลายฉบับนั้น เป็นความพยายามของคู่สัญญาในการหลีกเลี่ยงกลไกการตรวจสอบตามกฎหมายร่วมทุน ทั้งนี้ ผู้บริหารของ กสท. อ้างว่าสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่ต้องทำตามกฎหมายร่วมทุน ทั้งที่หลายฝ่ายรวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตั้งข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว แต่กลับไปอ้างว่าอัยการให้ความเห็นชอบกับสัญญาต่างๆ แล้ว ทั้งที่อัยการเองก็ยังไม่น่าจะได้เห็นสัญญาครบทั้งหมด และในส่วนของสัญญาที่อัยการได้เห็น ก็ได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำเตือนต่างๆ มากมาย นอกจากนี้ ในส่วนของ “สัญญาเช่า” ยังมีเนื้อหาที่กำหนดให้ กสท ต้องนำเอาคลื่นความถี่ของตนไปใช้กับอุปกรณ์ของเอกชนที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งน่าจะผิดบทบัญญัติของกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (กฎหมาย กสทช.) ที่ห้ามผู้ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ นำเอาคลื่นความถี่ไปให้ผู้อื่นใช้ต่อ ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาดังกล่าวยังมีเงื่อนไขหลายข้อที่น่าจะขัดต่อบทบัญญัติเรื่องการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามกฎระเบียบในการประกอบกิจการโทรคมนาคมอีกด้วย ที่น่าพิศวงอีกประการหนึ่งก็คือ กสท กล้าทำสัญญาเช่าดังกล่าวกับทรู เป็นเวลาถึง 14.5 ปีทั้งที่โครงการยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์และยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนนตรีเลย โดยผู้บริหาร กสท. อ้างว่า กำลังดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งน่าจะหมายความว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎระเบียบ นอกจากความเสี่ยงที่จะขัดกับกฎหมาย 4-5 ฉบับดังกล่าวมาแล้ว ในส่วนของเงื่อนไขข้อสัญญา ผู้เขียนก็เห็นว่า ฝ่ายรัฐคือ กสท เสียเปรียบฝ่ายเอกชนอย่างชัดแจ้งหลายประการ เช่น จังหวะก้าวในการลงทุนทั้งหมด จะถูกกำหนดมาจากความต้องการของทรูเป็นหลัก ซึ่งผิดกับลักษณะการ “ขายส่ง”โดยทั่วไป ที่เจ้าของโครงข่ายจะเป็นผู้ตัดสินใจลงทุนขยายโครงข่ายตามความต้องการของตนเอง ที่สำคัญ ผลตอบแทนที่ กสท จะได้รับจากการทำสัญญาครั้งนี้ ไม่น่าจะคุ้มค่ากับทรัพยากรที่ตนจะต้องลงทุนไป เพราะแม้แต่ในการประมาณการกรณีที่ดีที่สุด (best scenario) สำหรับ กสท. กสท. จะได้ผลตอบแทนจากการทำสัญญาดังกล่าวเพียง 1.4 หมื่นล้านบาท ตลอดเวลา 14.5 ปี ผลตอบแทนดังกล่าวน้อยมาก เมื่อพิจารณาว่า ลำพังมูลค่าของคลื่นความถี่ที่ กสท. จะต้องนำมาให้ทรูใช้ ก็มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.28 หมื่นล้านบาทแล้ว หากประเมินตามราคาที่ กทช. เคยตั้งไว้ ทั้งนี้ การคิดผลตอบแทนดังกล่าวยังน่าจะไม่ได้รวมภาระด้านเงินต่างๆ ที่ กสท. จะต้องแบกรับไว้ด้วยเช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ที่ต้องจ่ายให้ กทช. ประมาณ 2% และค่าบริการอย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่อัตรา 4% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย ตลอดจนต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานและค่าบริหารจัดการ การทำสัญญานี้ ยังส่งผลให้ กสท. หมดสภาพความเป็น “ผู้รับใบอนุญาตประเภทที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม” ไปโดยปริยาย เพราะจะมีสภาพแทบไม่แตกต่างจาก “ผู้รับเหมาก่อสร้างเสาโทรคมนาคม” เนื่องจากการดำเนินการตามสัญญาจะทำให้ กสท. ไม่มีแม้แต่อุปกรณ์ 3G เป็นของตนเอง และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวลาไม่นาน ในเวลาเดียวกัน ทรู จะได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการทำสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญที่สุดก็คือ จะได้สิทธิในการประกอบการต่อไปอีก 14.5 ปี โดยไม่ต้องห่วงว่าสัมปทานที่มีอยู่จะหมดอายุลงภายใน 2 ปี และจะได้คลื่นความถี่ฟรี โดยไม่ต้องไปประมูลแข่งกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ ทรูจะยังสามารถย้ายลูกค้าตามสัมปทานปัจจุบันไปใช้โครงข่ายใหม่ โดยไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่ กสท. อีกต่อไป ทั้งหมดนี้ จะทำให้ทรูได้สิทธิในการเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์ 3G ก่อน และมีต้นทุนในการให้บริการต่ำกว่าคู่แข่ง ซึ่งน่าจะนำไปสู่การผูกขาดตลาดการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงไร้สายในระยะยาว นอกจากการสร้างการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมแล้ว “สัมปทานจำแลง” ระหว่าง กสท. และ ทรู นี้ยังจะทำให้ระบบสัมปทานซึ่งเป็นต้นตอของความล้าหลังและความฉ้อฉลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย คงอยู่ต่อไปอีกเกือบ 15 ปี และจะทำให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่สามารถแยกออกจากการเมืองได้ ไม่น่าแปลกใจว่า สัมปทานโทรคมนาคม เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลที่มีภาพพจน์แปดเปื้อนไปด้วยคราบไคลของการคอร์รัปชั่นเมื่อสองทศวรรษก่อน แต่ที่น่าสลดใจก็คือ สัมปทานจำแลงกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรี ซึ่งย้ำอยู่เสมอว่า ตัวท่านไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และรัฐบาลของท่านให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างธรรมาภิบาล จาก สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) |
วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554
สมเกียรติ" ชำแหละสัญญาโทรศัพท์ 3G ระหว่าง กสท และ ทรู:สัมปทานจำแลงในยุคอภิสิทธิ์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น