Thailand is a Heart of Asia
มองโลกแบบวิกรม - “ไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย ? ”
การที่เศรษฐกิจของโลกเราขยายตัวอย่างทุกวันนี้ ทำให้มีเศรษฐีเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจกิจโลกเติบโตขึ้นประมาณ 4-5% ถึงแม้จะเกิดวิกฤติขึ้นหลายต่อหลายครั้ง แต่โลกของเราก็สามารถผ่านมาได้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจยังคงเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ สิ่งนี้เองที่ทำให้รายได้ต่อหัวของผู้คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนเอเชียที่ขึ้นมาเป็นเศรษฐีระดับโลกนั้นมีมากมายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลล่าสุดพบว่าจำนวนเศรษฐีที่มีเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในเอเชียนั้นมีมากกว่าในยุโรปไปแล้ว โดยธรรมชาติของคนเรานั้น เมื่อมีเงินแล้วก็มักจะหันมาสนใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้นไม่ว่าจะชาติใดภาษาใด
การรักษาพยาบาล การเสริมสร้างให้สุขภาพแข็งแรง หรือการชะลอความแก่ ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล เพราะคนหันมาสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจศัลยกรรมยังได้รับความนิยม นอกจากสุขภาพแข็งแรงแล้วยังต้องการให้ตัวเองดูดีอีกด้วย
ธุรกิจการแพทย์ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่มีจำนวนเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้น ประเทศไทยเรานั้นก็ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางด้านการแพทย์ด้วยจนส่งผลให้ประเทศไทยของเรากลายมาเป็นศูนย์กลางสุขภาพของภูมิภาค และอยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย เทียบชั้นประเทศต้นแบบอย่างสิงคโปร์ น่าดีใจที่จากสถิตินั้นไทยได้แซงหน้าด้านจำนวนคนไข้ไปแล้ว ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ แต่หากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์นั้นประเทศไทยยังตามหลังสิงคโปร์อยู่พอสมควร
วันนี้ที่ประเทศไทยเราจะกลายมาเป็นอันดับแรก ๆ ของโลก หรือจะกลายเป็นประเทศรั้งท้ายของโลกนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากนโยบายการผลักดันของรัฐบาลแทบทั้งสิ้น ตั้งแต่ปี 2546 ทุกรัฐบาลต่างมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของทวีปเอเชีย
โรงพยาบาลเอกชนปรับตัวหันมาให้บริการคนไข้ชาวต่างชาติที่มาทำงานและท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้นเป็นลำดับ และหลังจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของบริการทางด้านสุขภาพของเอเชีย พบว่าในปัจจุบันมีคนไข้ชาวต่างชาติรับการรักษาในประเทศไทย รวมนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่มาทำงานหรือตั้งถิ่นฐานในภูมิภาค มากถึงปีละ 1.4 ล้านคน
ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับการกล่าวขวัญในหมู่ชาวต่างชาติที่มีความต้องการได้รับการรักษาว่าเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญได้แก่การมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การที่เข้าประเทศได้อย่างไม่ลำบาก ค่าใช้จ่ายที่ไม่แพง และความมีอัธยาศัยดีจากผู้ให้บริการ นอกเหนือจากนี้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักโดยมีการท่องเที่ยวทางทะเล ภูเขา ศิลปะและวัฒนธรรม อาหาร ความบันเทิง และแหล่งซื้อของต่างๆ ซึ่งสามารถรองรับเหล่านักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
ผมมองว่าประเทศไทยยังสามารถขยายตัวเลขการเติบโตทางด้านธุรกิจการแพทย์ได้อีกมาก และประเทศไทยเรานั้นมีศักยภาพที่จะทำได้ เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการแพทย์ของประเทศไทยเรานั้นได้รับการยอมรับไปทั่วโลก และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน ประเทศสหรัฐฯ เข้มงวดกับการออกวีซ่า ให้เศรษฐีชาวตะวันออกกลาง ที่เดินทางไปรักษาตัวที่อเมริกา เป็นตัวผลักดันให้กลุ่มลูกค้าเหล่านี้เบนเข็มมารับบริการที่แถบเอเชียแทน ยิ่งเมื่อมีการเปิดประเทศของจีน ทำให้ประชาชนจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น สิงคโปร์ และไทย จึงมองเห็นศักยภาพของคนกลุ่มนี้ก็พร้อมมาใช้บริการมากขึ้นด้วย คู่แข่งอย่างมาเลเซีย กับประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างอินเดียก็คิดนำจุดนี้มาสร้างเสริมรายได้ของประเทศด้วยเช่นกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ธุรกิจด้านรักษาพยาบาล และดูแลสุขภาพเติบโตอย่างมาก และมีการแข่งขันสูง เนื่องจากแต่ละประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญสามารถนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นประเทศสิงคโปร์ อินเดีย มาเลเซีย และฮ่องกง
ผลที่ตามมาคือปัญหาขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางยังเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เพราะต้องยอมรับว่า การเปิดบริการรักษาชาวต่างชาติทำให้เกิดการดึงตัวแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์ จากนโยบายการผลิตแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปีนี้มีแพทย์จบใหม่ 1,400 คน และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 2,500 คน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งนโยบายผลิตแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผมอยากให้ทุกคนหันมามองปัจจัยในประเทศเราว่ามีอะไรบ้าง และตลาดโลกกำลังต้องการอะไร และทำอย่างไรเราจะสามารถนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดโลก โดยมีการตั้งเป้าหมายไว้ให้ชัดเจน จากนั้นจะเกิดแนวทางในการพัฒนาประเทศขึ้นมาเอง
" วิกรม กรมดิษฐ์ "
หนุนแผนโปรโมทไทย"ศูนย์กลาง ROH" ของเอเชีย
แผนของภาครัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นทำเลที่ดีที่สุดสำหรับให้บริษัท ต่างชาติเข้ามาเปิดสำนักงานปฏิบัติการประจำภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) นับเป็นแนวคิดที่ดี ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้ เข้ามาในประเทศไทย คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของกรุงเทพฯ จะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนของรัฐบาลในการเสนอสิทธิพิเศษเพิ่มเติมทางด้านภาษีสำหรับบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทย ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากจะมีส่วนช่วย สร้างให้เกิดดีมานด์หรือความต้องการในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้านสำหรับรองรับบริษัทระหว่างประเทศที่ต้องการเข้ามาเปิดอาร์โอเอช โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงงานที่มีทักษะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นสถานที่น่าอยู่สำหรับครอบครัวของผู้บริหารชาวต่าง ชาติด้วยหลายๆ ปัจจัย อาทิ ที่พักอาศัยที่มีคุณภาพดี สถานที่บันเทิงและพักผ่อนหย่อนใจ โรงพยาบาลและโรงเรียนนานาชาติที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งมีรองรับและมีให้เลือกอย่างเพียงพอ ที่สำคัญกว่านั้น การอยู่อาศัยและการทำธุรกิจในประเทศไทยมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ เมืองศูนย์กลางอาร์โอเอชหลักของเอเชียในขณะนี้ เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์
โอกาสออฟฟิศค่าเช่าถูก
กรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในเมืองที่มีค่าเช่าออฟฟิศที่ถูกที่สุดในเอเชีย ดังนั้นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดอาร์โอเอชในกรุงเทพฯ จะได้ประโยชน์จากต้นทุนต่ำในการเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นสถาน ประกอบการ อีกทั้งยังมีอาคารสำนักงานให้เลือกอย่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของทำเลที่ตั้งและคุณภาพอาคาร
ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีอาคารสำนักงานที่สร้างเสร็จแล้วคิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 8 ล้าน ตร.ม. ในจำนวนนี้เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ 2.6 ล้าน ตร.ม. และเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) 1.27 ล้าน ตร.ม. และในจำนวนทั้งหมด 8 ล้าน ตร.ม.นี้ มีพื้นที่ว่างเหลือเช่าเฉลี่ย 17% หรือ 1.36 ล้าน ตร.ม.
ส่วนค่าเช่า มีอัตราที่หลากหลายอยู่ในช่วง 300-800 บาท/ตร.ม./เดือน ขึ้นอยู่กับทำเลและคุณภาพของอาคาร โดยรายงานวิจัยจากโจนส์ แลง ลาซาลล์ ระบุว่า ค่าเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานเฉลี่ยทั่วกรุงเทพฯ อยู่ที่ 398 บาท/ตร.ม./เดือน แต่หากเป็นอาคารสำนักงานเกรดเอในเขตซีบีดี จะมีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 635 บาท/ตร.ม. ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายๆ เมืองในเอเชีย
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบค่าตกแต่งสำนักงานนยังพบว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ 15-40% โดยการออกแบบตกแต่งสำนักงานในประเทศไทย มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 23,000-28,000 บาท/ตร.ม.
นอกจากนี้ต้นทุนต่ำด้านสำนักงานแล้ว บริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังจะได้ประโยชน์จากค่าเช่าที่พักอาศัยที่ค่อนข้างถูกกว่าหลายๆ เมืองของเอเชียอีกด้วย ซึ่งหมายถึงการประหยัดค่าสวัสดิการด้านที่พักอาศัยสำหรับผู้บริหารที่เป็น ชาวต่างชาติมีที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบเพื่อรองรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำ ธุรกิจหรือทำงานให้แก่บริษัทระหว่างประเทศ นับตั้งแต่บ้านเดี่ยวระดับหรูที่มีให้เลือกเช่าหลายขนาดและหลายทำเล อาทิ บ้านเดี่ยวขนาด 4 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 600 ตร.ม. ในทำเลที่พักอาศัยชั้นดี มีให้เช่าในราคาตั้งแต่ 170,000 บาทไปจนถึง 250,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับคุณภาพการก่อสร้าง การออกแบบ และสิ่งอำนวยความสะดวก
ส่วนผู้ที่ชอบการอยู่อาศัยในอาคารสูงในย่านใจกลางเมือง สามารถเลือกเช่าที่พักอาศัยได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งเสนอค่าเช่าในอัตราที่น่าสนใจ อาทิ อพาร์ตเมนต์เกรดเอบวกขนาด 3 ห้องนอน พร้อมเฟอร์นิเจอร์ครบ ในทำเลศูนย์กลางธุรกิจ มีให้เลือกเช่าในราคาระหว่าง 100,000-150,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับอายุของอาคาร ทำเล คุณภาพการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้
สำหรับผู้บริหารชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อที่พักอาศัยเป็นของตนเอง สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก พ.ร.บ.อาคารชุดพักอาศัยอนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอาคาร ชุดคอนโดมิเนียมได้ โดยกำหนดเพดานการถือครองกรรมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติไว้ไม่เกิน 49% ของเนื้อที่ห้องชุดทั้งหมดภายในอาคาร ส่วนราคาซื้อขายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับคุณภาพโครงการ ที่ตั้งและอายุอาคาร ตัวอย่างเช่น คอนโดมิเนียมมือหนึ่งในโครงการที่สร้างเสร็จใหม่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจ มีราคาเสนอขายอยู่ระหว่าง 90,000-200,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนคอนโดมือสองในอาคารที่มีอายุมากกว่า จะมีราคาขายที่ต่ำกว่านี้
การสัญจร-คุณภาพ"คน"คือจุดที่ต้องแก้
แม้ประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบในหลายๆ ด้านสำหรับการเป็นศูนย์กลางของอาร์โอเอชในภูมิภาคนี้ แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องได้รับการแก้ไข เวลาที่ใช้ในการสัญจรในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นปัญหา ทั้งนี้แม้ระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ลงไปได้บ้าง แต่ระบบเหล่านี้ยังครอบคลุมพื้นที่จำกัดและเต็มรูปแบบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ เมืองที่พัฒนามากกว่าดังเช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ และแม้ขณะนี้จะมีระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงใหม่ๆ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างหรือวางแผนหลายโครงการ แต่ความคืบหน้าของโครงการเหล่านี้ยังค่อนข้างช้า
สำหรับธุรกิจบางประเภท พนักงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอาจยังขาดแคลน อาทิ บริษัทต่างชาติจำนวนมากยังประสบปัญหาในการรับสมัครพนักงานที่มีความสามารถใน การสื่อสารภาษาอังกฤษ แม้ปัญหาเรื่องนี้จะได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าจะยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเกี่ยวโยงกับโครงสร้างทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วนัก
ภาครัฐได้พยายามปรับปรุงขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายและราชการ ดังจะเห็นได้จากการจัดตั้งศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน One Start, One Stop Investment Center อย่างไรก็ดี ขั้นตอนทางกฎหมายและราชการอาจยังเป็นปัญหาหนักสำหรับบริษัทต่างชาติ อาทิ การขอใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้บริหารหรือพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งบริษัทต่างชาติมักพบว่ามีความยุ่งยากซับซ้อน
ปรียา เทศนอก
คม ชัด ลึก การค้าและการลงทุน